การบูรณะ และก่อสร้าง ประตูพลแสน ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ ของ ประตูเมืองนครราชสีมา

รายละเอียดของการก่อสร้าง[5]

เมื่อ พ.ศ. 2530 นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นปีเฉลิมพระเกียรติแต่พระเจ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นปีท่องเที่ยวไทย สมควรจะได้ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุให้เป็นกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างกำแพงและซุ้มประตูเมืองนครราชสีมาอีก 3 ประตู ซึ่งหักพัง และถูกรื้อสูญไปแล้ว ให้มีครบทั้ง 4 ประตู ตามที่เคยมีมาตั้งแต่โบราณ

ขั้นตอนในการก่อสร้าง

ขั้นตอนที่ 1

การคัดเลือกสถานที่ก่อสร้าง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกสถานที่ขึ้น ประกอบด้วยนายเด็ดดวง สุคนธรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองนครราชสีมา เป็นประธาน นายสถิตย์ ภักดิ์ศรีแพง หัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ศึกษาและค้นคว้าประวัติ และตำนานของเมืองนครราชสีมา และกำหนดจุดก่อสร้างให้ตรงตามประวัติและสถานที่ดั่งเดิม และประสานขอใช้สถานที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาของคณะกรรมการ จึงได้กำหนดจุดก่อสร้างประตูทั้งสาม ดังนี้

  1. ก่อสร้างประตูพลแสน ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศเหนือ ตรงใกล้สี่แยกถนนพลแสนตัดกับถนนประจักษ์ (หน้าวัดสามัคคี)
  2. ก่อสร้างประตูไชยณรงค์ ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศใต้ ตรงบริเวณใกล้ห้าแยกราชนิกูล (ใกล้บริเวณตลาดสดประตูผี)
  3. ก่อสร้างประตูพลล้าน ที่บริเวณด้านในคูเมือง ด้านทิศตะวันออก ตรงใกล้สี่แยกถนนจอมพลตัดกับถนนพลล้าน (ใกล้ทางเข้าทุ่งสว่าง)

จังหวัดได้ขอใช้ที่ราชพัสดุทั้ง 3 แห่ง ในการก่อสร้าง และได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ตามหนังสือด่วนมาก ที่ กค 0507/3788 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 และจังหวัดได้ขอรับความเห็นจากกรมศิลปากรเกี่ยวกับจุดก่อสร้างประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง และแบบแปลน

ซึ่งสำนักงานโยธาธิการจังหวัดนครราชสีมาเขียนขึ้น (แบบแปลนที่ ยธ.นม.232) ตลอดจนขอทราบว่า แต่เดิมกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง เป็นโบราณสถานหรือไม่ และยินยอมให้จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างประตูเมืองตามแบบแปลนที่ ยธ.นม.232 ดังกล่าวหรือไม่ กรมศิลปากรแจ้งให้ทราบว่า กรมศิลปากรมิได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานประตูเมืองทั้งสามไว้ จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลยพินิจของจังหวัดที่จะดำเนินการ (ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ ศธ 0704/2016 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2530)

ขั้นตอนที่ 2

การออกแบบก่อสร้าง คณะกรรมการฝ่ายช่าง ซึ่งประกอบด้วย นายประชา จิตรภิรมย์ศรี โยธาธิการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน นายสมศักดิ์ กุลนรากร นายช่างโยธา 4 เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่ออกแบบกำแพง และซุ้มประตูเมืองให้มีรูปลักษณะคล้ายของเดิมตามประวัติศาสตร์ โดยให้ถือประตูชุมพลเป็นแบบ คณะกรรมการฝ่ายช่างได้ออกแบบตามแบบ ยธ.นม.232 และประมาณการก่อสร้างประมาณประตูละ 1.3 ล้านบาทเศษ

ขั้นตอนที่ 3

การจัดหาทุนก่อสร้าง คณะกรรมการฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้าง ซึ่งประกอบไปด้วย นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน นายสถิตย์ ภักดิ์ศรีแพง หัวหน้าฝ่ายบริหาร สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่จัดหาทุนจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ผลการดำเนินการของคณะกรรมการฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้าง ปรากฏว่า มีผู้บริจาคเงินก่อสร้าง ดังนี้

ประตูพลแสน

เดิมนายเหรียญ จึงวัฒนาภรณ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดคิงส์ยนต์ รับบริจาคแต่ผู้เดียว แต่เนื่องจากการก่อสร้างประตูเมืองเป็นถาวรวัตถุเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลของผู้บริจาคเงินก่อสร้าง จึงมีผู้ขอร่วมบริจาคเงินก่อสร้างขึ้นในประตูนี้รวม 8 คนคือ

  • นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
  • นายเหรียญ จึงวิวัฒนาภรณ์
  • นายวิชัย เชิดชัย
  • นายบรรยง หล่อธาราประเสริฐ
  • นายมุข วงษ์ชวลิตกุล
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ภาคอีสานพาณิชย์ (ตังปัก)
  • นายประพัฒน์ อินทนากรวิวัฒน์
  • นายทศพล ตันติวงษ์
  • นายป่วยเฮียง แซ่โค้ว
ประตูพลล้าน
  • นายอาคม ไตรบัญญัติกุล เจ้าของ และผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยเย็น และครอบครัว รับเป็นผู้บริจาคค่าก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียว
ประตูไชยณรงค์
  • บริษัท เอกศิลป์ จำกัด และบริษัท เค.เค.พัฒนาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้บริจาค

ขั้นตอนที่ 4

ขั้นตอนการก่อสร้างได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นเป็น 3 คณะ คือ คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จากการรับจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างประตูเมืองทั้ง 3 แห่ง ปรากฏผลดังนี้

  • ประตูพลแสน ห้างหุ้นส่วนจำกัดยงประเสริฐ โดย นายประพัฒน์ อินทนากรวิวัฒน์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
  • ประตูพลล้าน ห้างหุ้นส่วนจำกัดวรรณาวดี โดย นางชุลี เตชะธีระปรีดา เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
  • ประตูไชยณรงค์ บริษัท เอกศิลป์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง